2/4/2024
เลขที่ 85 ซอย เวฬุวัน 12 อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา 95000
“อยากให้หันไปมองวัฒนธรรมตัวเองก่อน วัฒนธรรมเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม วัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ดีที่คนรุ่นเก่าๆ เขาเคยสร้างกันมา”
แนะนำตัวเอง / อาชีพ?
ชื่อปิยะ สุวรรณพฤกษ์ เป็นประธานกลุ่มของศรียะลาบาติก
อะไรคือจุดเริ่มต้น / แรงบัลดาลใจ เข้าสู่อาชีพนี้การทอผ้าเพื่อส่งขายนี้ได้อย่างไร?
จุดเริ่มต้นจริงๆของการจัดตั้งกลุ่มของศรียะลา ก็คือเป็นการรื้อฟื้นผ้าโบราณที่หายไป เรียกว่าผ้าปะลางิง ซึ่งเป็นผ้าที่รวบรวมทุกเทคนิคของบาติกไว้ในผ้าหนึ่งผืน ไม่ว่าจะเป็นในเทคนิคของการทอ การมัดย้อม การพิมพ์ การเขียน และการเพนต์ สมัยก่อนผ้าปะลางิง ที่อินโดนีเซียเขาจะเรียกว่าผ้าบาติก “Jumputan” ก็คือรวมทุกเทคนิคไว้ในผ้า นั่นก็คือสาเหตุที่เราตั้งกลุ่มแล้วก็รื้อฟื้นผ้าตัวนี้เพราะว่า มันมีการเดินทางกันระหว่างวัฒนธรรม เดินทางกันระหว่างการค้าขาย ฉะนั้นเนี่ยเมื่อวัฒนธรรมไหลเข้ามา ส่วนนึงก็ทำให้เกิดการผลิตในท้องถิ่น เลยเรียกผ้าชนิดนี้ว่าปะลางิง พอเริ่มเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 7 ผ้าชนิดนี้เลยเริ่มหายไป
มีผ้าประเภทไหนบ้าง?
ร้านเรามีทุกประเภท มีงานเย็บย้อมก็คือเกิดลายรอบขอบเหมือนกับงานชิโบริของญี่ปุ่นแต่จะมีเทคนิคการทําเทียนผสมอยู่ด้วย แล้วก็ย้อมด้วยสีธรรมชาติ, มีแบบใช้เทคนิคการพิมพ์ลายด้วยแม่พิมพ์ไม้, มีแบบการเขียนเทียน ใช้เทคนิคทั้งเขียนทั้งพิมพ์อยู่ในตัว ตัวผืนผ้าก็คือมีการทอด้วยไหมกับฝ้ายผสมกัน แล้วแต่แบบ
เสน่ห์และเอกลักษณ์ของผ้า?
ผ้าปะลางิง จะเรียกว่าผ้าสายรุ้งหรือว่าผ้าเจ็ดสี ในหนึ่งผืนก็จะมีตั้งแต่กระบวนการทอ การย้อม เป็นผ้าที่ใช้สีเยอะมาก คนสมัยก่อนเขาจึงเรียกผ้าชนิดนี้ว่าผ้าสายรุ้ง ในโซนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ้าตัวนี้เป็นผ้าที่เคยใช้ในสมัยก่อนแล้วก็สูญหายไปแล้วเราก็ทําการรื้อฟื้นผ้าตัวนี้กลับมา เสน่ห์มีตั้งแต่ตัวลายผ้า ซึ่งจะมีความแตกต่างจากภาคเหนือหรือภาคอีสาน ต่อมาเรื่องของสีที่สดใส และ สุดท้ายคือกรรมวิธีในการทํา ตัวลายก็มาจากวัฒนธรรมของท้องถิ่น มันเป็นตัวเล่าเรื่องบนผืนผ้า ลายแต่ละลายอยู่ที่ไหน ใครเคยใช้ หรือว่า มีความสําคัญยังไง มันก็จะถูกจดบันทึกในตัวลาย แล้วก็นํามาลงบนผืนผ้า
ความพิเศษ/ความโดดเด่น?
อยู่ที่วัฒนธรรม วัฒนธรรมของคนใต้ที่ชอบอะไรที่สีสด ไม่ว่าถ้าเราคิดถึงเรื่องของการกิน การกินก็คือชอบรสจัดก็เหมือนกัน บางทีเรายังทําสีจากเครื่องเทศเลย เอาเครื่องเทศมาเป็นตัวตั้งสี สีส้ม สีเหลือง สีเขียว นั่นคือเอกลักษณ์ของคนใต้ ต่างจากที่อื่น พูดง่ายๆ ว่ากล้าใช้สี
เทคนิคที่ใช้ในการทอ?
ในผ้าของปะลางิง จะประกอบไปด้วยการเขียนด้วย”จันติ้ง” (Canting) ด้วย ก็คือใช้ปากกาเขียนเทียนที่เรียกว่าจันติ้ง แล้วก็มีการพิมพ์ลายด้วยแม่พิมพ์ไม้ แล้วก็ในอีกส่วนก็คือการเย็บย้อม เย็บลายเหมือนกับงานชิโบริของญี่ปุ่น แต่ทางใต้จะเรียกเทคนิคนี้ว่าการเย็บย้อมพอเรารื้อฟื้น เราก็ค่อยๆ ถอดแต่ละแบบในการทําผ้าของผ้าชนิดนี้ออกมา ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการพิมพ์ การเขียน การเย็บลาย ก็ถูกถอดแบบออกมา รวมถึงการย้อมสีด้วยธรรมชาติแล้วก็เคมีด้วย
อยากให้หันไปมองวัฒนธรรมตัวเองก่อน วัฒนธรรมเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม วัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ดีที่คนรุ่นเก่าๆ เขาเคยสร้างกันมา แล้วเราเป็นคนสมัยใหม่ ให้เอาเทคโนโลยีมาบวกกับวัฒนธรรมหรือเอานวัตกรรมมาผสมผสาน ก็จะเกิดสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา สินค้าที่มีรากฐานของวัฒนธรรม มีเรื่องราวให้เล่น มีสตอรี่ให้บอกเล่าเวลาเราขายสินค้านั้นๆไป
Facebook: SriYala Batik
โทร: 0987154155, 0878374007
อีเมล: sriyala_batik@hotmail.co.th